ReadyPlanet.com
dot dot
dot
ข้อมูลการประกอบธุรกิจ
dot
bulletข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียน
bulletข้อมูลเกี่ยวกับบัญชี
bulletแบบฟอร์มต่าง ๆ
bulletอื่น ๆ
dot
ติดต่อเรา
dot
bulletแผนที่สำนักงาน
dot
Link web
dot
bulletอัตราค่าแรงขั้นต่ำ
bulletอัตราดอกเบี้ย BOT
bulletอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา BOT
bulletอนุสัญญาภาษีซ้อน
bulletกรมสรรพสามิต
bulletกรมการค้าต่างประเทศ
bulletกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
bulletสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
bulletสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย
bulletสภาทนายความ
bulletเนติบัณฑิตยสภา
bulletกรมศุลกากร
bulletส่งเสริม SME
bulletกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
dot
Member login
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
bullet สมัครสมาชิก
dot


สำนักงานประกันสังคม
กรมสรรพากร
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
สภาวิชาชีพบัญชี
ธนาคารแห่งประเทศไทย


พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี 2547 article

พระราชบัญญัติ
วิชาชีพบัญชี
พ.ศ. ๒๕๔๗
 


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
เป็นปีที่ ๕๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
               โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี
               พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่า
               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗”

               มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. ๒๕๐๕

               มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
               “วิชาชีพบัญชี” หมายความว่า วิชาชีพในด้านการทำบัญชี ด้านการสอบบัญชี ด้านการบัญชีบริหาร ด้านการวางระบบบัญชี ด้านการบัญชีภาษีอากร ด้านการศึกษาและเทคโนโลยีการบัญชี และบริการเกี่ยวกับการบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
               “ผู้ทำบัญชี” หมายความว่า ผู้ทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี
               “การประชุมใหญ่” หมายความว่า การประชุมใหญ่สามัญหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ
               “สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
               “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
               กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

 

สภาวิชาชีพบัญชี

 

               มาตรา ๖ ให้มีสภาวิชาชีพบัญชี มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชี

               มาตรา ๗ สภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
               (๑) ส่งเสริมการศึกษา การอบรม และการวิจัยเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี
               (๒) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก จัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ระหว่างสมาชิก
               (๓) กำหนดมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชี และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี
               (๔) กำหนดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
               (๕) รับขึ้นทะเบียนการประกอบวิชาชีพบัญชี ออกใบอนุญาต พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
               (๖) รับรองปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาการบัญชีของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการรับสมัครเป็นสมาชิก
               (๗) รับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพบัญชี
               (๘) รับรองหลักสูตรการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการ และการศึกษาต่อเนื่องในด้านต่าง ๆ ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
               (๙) ควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของสมาชิกและผู้ขึ้นทะเบียนอันเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพบัญชีให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพบัญชี
               (๑๐) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้บริการวิชาการแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี
               (๑๑) ออกข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑) เรื่อง วิธีการเสนอและการพิจารณาร่างข้อบังคับ พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๒) เรื่อง สมาชิกและการรับสมัครสมาชิก พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๓) เรื่อง ค่าบำรุงสมาชิก พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๔) เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกสภาวิชาชีพบัญชี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๕) เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของประธานคณะกรรมการหรือกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน อำนาจหน้าที่ และการดำเนินการอื่นของคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๖) เรื่อง ผู้ทำบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๗) เรื่อง การออกใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๘) เรื่อง การประชุมใหญ่และการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๙) เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของประธานคณะกรรมการ หรือกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน อำนาจหน้าที่ และการดำเนินการอื่นของคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. ๒๕๔๘]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๐) เรื่อง ระยะเวลาการประกอบวิชาชีพบัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการจรรยาบรรณ พ.ศ. ๒๕๔๘]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๑) เรื่อง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การคัดเลือก และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๘]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๒) เรื่อง การพิจารณาเกี่ยวกับจรรยาบรรณ พ.ศ. ๒๕๔๙]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๓) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกหัดงาน การทดสอบเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. ๒๕๔๙]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๔) เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ อำนาจหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งอุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน และตำแหน่งอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด พ.ศ. ๒๕๔๙]
               (๑๒) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
               (๑๓) ให้คำปรึกษาและเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและปัญหาของวิชาชีพบัญชี
               (๑๔) ดำเนินการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๘ สภาวิชาชีพบัญชีอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
               (๑) ค่าบำรุงสมาชิกและค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้
               (๒) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
               (๓) ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของสภาวิชาชีพบัญชี
               (๔) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่สภาวิชาชีพบัญชี
               (๕) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ(๔)

               มาตรา ๙ ภายใต้บังคับบทบัญญัติหมวด ๕ การควบคุมการประกอบวิชาชีพด้านการสอบบัญชี และหมวด ๖ การควบคุมการประกอบวิชาชีพด้านการทำบัญชี ในกรณีที่การประกอบวิชาชีพบัญชีด้านใด มีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประชาชน หรือเพื่อประโยชน์ที่จะให้มีการคุ้มครองประชาชนและพัฒนาหรือจัดระเบียบการประกอบวิชาชีพบัญชีด้านใด จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบวิชาชีพบัญชีด้านนั้นต้องได้รับใบอนุญาตหรือต้องขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีก็ได้

               มาตรา ๑๐ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙ ใช้บังคับสำหรับวิชาชีพบัญชีด้านใด ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพบัญชีด้านนั้น เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี
               การขอรับใบอนุญาต การอนุญาต การออกใบอนุญาต และการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               ในการขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีจะกำหนดให้ผู้ขึ้นทะเบียนซึ่งมิได้เป็นสมาชิกต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นรายปีก็ได้ แต่จะกำหนดค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้สูงกว่าค่าบำรุงสมาชิกและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เรียกเก็บจากสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีเป็นรายปีไม่ได้

               มาตรา ๑๑ นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙ ต้องจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
               (๑) นิติบุคคลนั้นต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ทั้งนี้ ตามประเภท จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
               (๒) ในกรณีประกอบกิจการให้บริการการสอบบัญชี บุคคลซึ่งมีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลในการให้บริการการสอบบัญชีต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
               การกำหนดหลักประกันตามวรรคหนึ่ง (๑) ให้คำนึงถึงขนาดและรายได้ของนิติบุคคลนั้น และให้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสภาวิชาชีพบัญชีมาพิจารณาประกอบด้วย
               ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีต้องรับผิดชอบต่อบุคคลที่สาม ให้นิติบุคคลซึ่งผู้สอบบัญชีนั้นสังกัดอยู่ร่วมรับผิดด้วยอย่างลูกหนี้ร่วม และ ในกรณีที่ยังไม่สามารถชำระค่าเสียหายได้ครบจำนวน ให้หุ้นส่วนหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล หรือผู้แทนนิติบุคคลใด ซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ต้องร่วมรับผิดจนครบจำนวน เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือ ยินยอมในการกระทำผิดที่ต้องรับผิด

หมวด ๒

 

สมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

 

               มาตรา ๑๒ สมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีมีสี่ประเภท ดังนี้
               (๑) สมาชิกสามัญ
               (๒) สมาชิกวิสามัญ
               (๓) สมาชิกสมทบ
               (๔) สมาชิกกิตติมศักดิ์

               มาตรา ๑๓ สมาชิกสามัญต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
               (๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
               (๒) มีสัญชาติไทย
               (๓) สำเร็จการศึกษาวิชาการบัญชีไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หรือได้รับประกาศนียบัตร หรือวุฒิอื่นเทียบเท่าปริญญาตรีสาขาวิชาชีพการบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีรับรอง หรือสำเร็จการศึกษาสาขาอื่นตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด
               (๔) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณอันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชีตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               (๕) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               (๖) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๒) เรื่อง สมาชิกและการรับสมัครสมาชิก พ.ศ. ๒๕๔๗]

               มาตรา ๑๔ สมาชิกวิสามัญและสมาชิกสมทบต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีสัญชาติของประเทศ ซึ่งยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยประกอบอาชีพสอบบัญชีในประเทศนั้นได้ และประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกวิสามัญ แต่ผู้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ (๑) (๓) (๔) (๕) และ (๖)
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๒) เรื่อง สมาชิกและการรับสมัครสมาชิก พ.ศ. ๒๕๔๗]

               มาตรา ๑๕ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเชิญเป็นสมาชิกตามมติของคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี

               มาตรา ๑๖ สมาชิกสามัญมีสิทธิและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
               (๑) แสดงความคิดเห็นในการประชุมใหญ่
               (๒) ออกเสียงลงคะแนนในการประชุมใหญ่
               (๓) เลือกตั้ง รับเลือกตั้ง หรือรับแต่งตั้ง เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการของสภาวิชาชีพบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้
               (๔) ชำระค่าบำรุงสมาชิกหรือค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๓) เรื่อง ค่าบำรุงสมาชิก พ.ศ. ๒๕๔๗]
               (๕) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชีและปฏิบัติตนตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
               (๖) สิทธิและหน้าที่อื่นตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด
               สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสิทธิและหน้าที่ตาม (๑) (๔) (๕) และ (๖)

               มาตรา ๑๗ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง เมื่อ
               (๑) ตาย
               (๒) ลาออก
               (๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ หรือมาตรา ๑๔ หรือคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีมีมติเพิกถอนสำหรับกรณีสมาชิกกิตติมศักดิ์
               (๔) ไม่ชำระค่าบำรุงสมาชิก โดยไม่มีเหตุอันสมควรตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๓) เรื่อง ค่าบำรุงสมาชิก พ.ศ. ๒๕๔๗]

               มาตรา ๑๘ ให้มีการประชุมใหญ่สามัญสภาวิชาชีพบัญชีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
               การประชุมใหญ่อื่นนอกจากการประชุมใหญ่สามัญ เรียกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ
               [ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. ๒๕๐๕]

               มาตรา ๑๙ สมาชิกสามัญอาจขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ในการนี้ นายกสภาวิชาชีพบัญชีต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๘) เรื่อง การประชุมใหญ่และการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา พ.ศ. ๒๕๔๗]

               มาตรา ๒๐ ในการประชุมใหญ่ ต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่าสองร้อยคนจึงเป็นองค์ประชุม
               การประชุมใหญ่ครั้งใด เมื่อล่วงพ้นเวลาที่กำหนดไว้เป็นเวลาสามสิบนาทีแล้วมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามวรรคหนึ่ง และการประชุมนั้นได้เรียกประชุมตามมาตรา ๑๙ ให้งดการประชุมครั้งนั้น แต่ถ้าคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้จัดให้มีการประชุม ให้เลื่อนการประชุมนั้นออกไป โดยให้นายกสภาวิชาชีพบัญชีเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวันและในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ ให้องค์ประชุมประกอบด้วยสมาชิกสามัญเท่าที่มาประชุม

               มาตรา ๒๑ ในการประชุมใหญ่ ให้นายกสภาวิชาชีพบัญชีเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่นายกสภาวิชาชีพบัญชีไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ ให้อุปนายกสภาวิชาชีพบัญชีคนที่หนึ่งหรือคนที่สองตามลำดับเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสภาวิชาชีพบัญชีและอุปนายกสภาวิชาชีพบัญชีไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ ให้สมาชิกสามัญที่มาประชุมเลือกสมาชิกสามัญคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม

หมวด ๓

 

คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี

 

               มาตรา ๒๒ ให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี ประกอบด้วย
               (๑) นายกสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกสามัญ
               (๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีทุกด้าน ประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี และประธานคณะกรรมการจรรยาบรรณ
               (๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกสภาวิชาชีพบัญชีและกรรมการโดยตำแหน่งตาม (๒) มีมติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับวิชาการบัญชีสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายหนึ่งคน
               (๔) กรรมการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกสามัญ มีจำนวนไม่เกินห้าคน
               ให้เลขาธิการสภาวิชาชีพบัญชีเป็นกรรมการและเลขานุการ และจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการก็ได้ตามความจำเป็นและตามมติของคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี
               คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกสภาวิชาชีพบัญชี กรรมการตาม (๓) และ (๔) และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งนายกสภาวิชาชีพบัญชี และกรรมการตาม (๔) ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๔) เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกสภาวิชาชีพบัญชี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๗]

               มาตรา ๒๓ นายกสภาวิชาชีพบัญชี และกรรมการตามมาตรา ๒๒ (๓) และ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
               ในกรณีที่นายกสภาวิชาชีพบัญชี หรือกรรมการตามมาตรา ๒๒ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ หรือในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่เลือกกรรมการตามมาตรา ๒๒ (๔) เพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งเลือกตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้เลือกหรือแต่งตั้งไว้แล้ว
               เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการเลือกตั้งนายกสภาวิชาชีพบัญชีหรือยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๒๒ (๓) หรือยังมิได้มีการเลือกกรรมการตามมาตรา ๒๒ (๔) ขึ้นใหม่ ให้นายกสภาวิชาชีพบัญชีหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่ง เพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่านายกสภาวิชาชีพบัญชีหรือกรรมการซึ่งได้รับเลือกหรือแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
               นายกสภาวิชาชีพบัญชีหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งอีกได้ แต่นายกสภาวิชาชีพบัญชีจะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

               มาตรา ๒๔ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้นายกสภาวิชาชีพบัญชีและกรรมการตามมาตรา ๒๒ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
               (๑) ตาย
               (๒) ลาออก
               (๓) พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
               (๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               (๕) รัฐมนตรีมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา ๖๓

               มาตรา ๒๕ ให้นายกสภาวิชาชีพบัญชีเลือกกรรมการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปนายกตามจำนวนที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีกำหนด ตำแหน่งเลขาธิการ เหรัญญิก และนายทะเบียน ตำแหน่งละหนึ่งคน และตำแหน่งอื่นตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีกำหนดตามความจำเป็น
               การปฏิบัติหน้าที่ อำนาจหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๔) เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ อำนาจหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งอุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน และตำแหน่งอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด พ.ศ. ๒๕๔๙]

               มาตรา ๒๖ การประชุมคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
               มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
               [ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. ๒๕๐๕]

               มาตรา ๒๗ คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่มอบหมายก็ได้
               ให้นำความในมาตรา ๒๖ มาใช้บังคับแก่การประชุมขอคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๘ ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
               (๑) บริหารกิจการของสภาวิชาชีพบัญชีให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
               (๒) กระทำกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้
               (๓) เสนอร่างข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีในกิจการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ต่อที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพบัญชี
               (๔) จัดให้มีการประชุมใหญ่
               (๕) ออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๒๙ สมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนจะเข้าชื่อเสนอร่างข้อบังคับตามมาตรา ๒๘ (๓) ต่อสภาวิชาชีพบัญชีด้วยก็ได้
               ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๓๐ วิธีการเสนอและการพิจารณาร่างข้อบังคับ ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               ร่างข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีเกี่ยวกับค่าบำรุงสมาชิกหรือค่าธรรมเนียม หรือร่างข้อบังคับตามมาตรา ๒๒ วรรคสาม มาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๔๔ วรรคสอง ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีก่อน
               ร่างข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีซึ่งสภาวิชาชีพบัญชีอนุมัติ หรือคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีให้ความเห็นชอบตามวรรคสองแล้ว แล้วแต่กรณี เมื่อนายกสภาวิชาชีพบัญชีลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑) เรื่อง วิธีการเสนอและการพิจารณาร่างข้อบังคับ พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๒) เรื่อง สมาชิกและการรับสมัครสมาชิก พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๓) เรื่อง ค่าบำรุงสมาชิก พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๔) เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกสภาวิชาชีพบัญชี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๕) เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของประธานคณะกรรมการ หรือกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน อำนาจหน้าที่และการดำเนินการอื่นของคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๖) เรื่อง ผู้ทำบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๗) เรื่อง การออกใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๘) เรื่อง การประชุมใหญ่และการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๙) เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของประธานคณะกรรมการหรือกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน อำนาจหน้าที่ และการดำเนินการอื่นของคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. ๒๕๔๘]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๐) เรื่อง ระยะเวลาการประกอบวิชาชีพบัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการจรรยาบรรณ พ.ศ. ๒๕๔๘]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๑) เรื่อง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การคัดเลือก และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๘]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๒) เรื่อง การพิจารณาเกี่ยวกับจรรยาบรรณ พ.ศ. ๒๕๔๙]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๓) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกหัดงาน การทดสอบเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. ๒๕๔๙]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๔) เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ อำนาจหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งอุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน และตำแหน่งอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด พ.ศ. ๒๕๔๙]

               มาตรา ๓๑ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้นายกสภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจกระทำการแทนสภาวิชาชีพบัญชี ในการนี้ นายกสภาวิชาชีพบัญชีจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นกระทำการแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้

               มาตรา ๓๒ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริมการประกอบวิชาชีพบัญชีด้านต่างๆ ให้มีคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีของแต่ละด้าน ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นมีจำนวนตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีกำหนด
               ประธานกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านต่างๆ ให้มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสามัญ โดยที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพบัญชี
               คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการหรือกรรมการวิชาชีพบัญชีตามวรรคหนึ่ง การแต่งตั้งหรือการเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินการอื่นของประธานกรรมการหรือกรรมการวิชาชีพบัญชี ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๕) เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของประธานคณะกรรมการ หรือกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน อำนาจหน้าที่และการดำเนินการอื่นของคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน พ.ศ. ๒๕๔๗]
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๙) เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของประธานคณะกรรมการหรือกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน อำนาจหน้าที่ และการดำเนินการอื่นของคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. ๒๕๔๘]

หมวด ๔

 

คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี

 

               มาตรา ๓๓ ให้มีคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการบัญชี มีจำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบเอ็ดคน และผู้แทนกรมการประกันภัย ผู้แทนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้แทน กรมสรรพากร ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นกรรมการ
               กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
               ให้กรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และเลือกกรรมการอีกคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
               คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การคัดเลือก และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๑) เรื่อง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การคัดเลือก และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๘]

               มาตรา ๓๔ ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีมีอำนาจหน้าที่กำหนดและปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและกฎหมายอื่น
               มาตรฐานการบัญชีต้องจัดทำขึ้นเป็นภาษาไทย
               มาตรฐานการบัญชีที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีกำหนดและปรับปรุงเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
               เมื่อได้รับแจ้งจากผู้ทำบัญชี ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ผู้ใช้ข้อมูลทางการเงิน กรมการประกันภัย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือหน่วยงานอื่นใด ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดไว้ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็นอุปสรรคต่อการ ประกอบกิจการ คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีต้องดำเนินการตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และกำหนด ปรับปรุง หรือพัฒนามาตรฐานการบัญชีโดยพลัน

               มาตรา ๓๕ คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา หรือปฏิบัติการอย่างใดตามที่มอบหมายได้

               มาตรา ๓๖ ให้นำความในมาตรา ๒๖ มาใช้บังคับกับการประชุมคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีและคณะอนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีแต่งตั้งโดยอนุโลม

หมวด ๕

 

การควบคุมการประกอบวิชาชีพด้านการสอบบัญชี

 

               มาตรา ๓๗ ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการสอบบัญชี หรือให้เอกสารใดต้องมีผู้สอบบัญชีลงลายมือชื่อรับรองหรือแสดงความเห็น ห้ามมิให้ผู้ใดลงลายมือชื่อรับรองการสอบบัญชี รับรองเอกสาร หรือแสดงความเห็นในฐานะผู้สอบบัญชี เว้นแต่เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือเป็นการกระทำในอำนาจหน้าที่ทางราชการ

               มาตรา ๓๘ ผู้ใดจะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชี
               การขอรับใบอนุญาต การอนุญาต และการออกใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตให้เป็นไปตามแบบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๗) เรื่อง การออกใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. ๒๕๔๗]
               เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วและใบอนุญาตนั้นมิได้ถูกพักใช้หรือถูกเพิกถอนให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพากรในการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามประมวลรัษฎากร

               มาตรา ๓๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
               (๑) เป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญตามมาตรา ๑๔ วรรคสอง แต่ในกรณีเป็นสมาชิกวิสามัญซึ่งเป็นคนต่างด้าวต้องเป็นผู้มีความรู้ภาษาไทยดีพอที่จะสามารถสอบบัญชีและจัดทำรายงานเป็นภาษาไทยได้ และมีภูมิลำเนาในประเทศไทย และเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวด้วย จึงจะปฏิบัติงานเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้
               (๒) ผ่านการทดสอบหรือฝึกอบรมหรือฝึกงานหรือเคยปฏิบัติงานเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีมาแล้วตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๓) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกหัดงาน การทดสอบเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. ๒๕๔๙]
               (๓) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เนื่องจากกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖๙ มาตรา ๓๒๓ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เว้นแต่ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี กฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี หรือกฎหมายว่าด้วยการกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ เฉพาะที่เกี่ยวกับการรับรองงบการเงินหรือบัญชีอื่นใดอันไม่ถูกต้องหรือทำรายงานเท็จหรือความผิดตามหมวด ๕ และหมวด ๖ แห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ต้องคำพิพากษาหรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
               (๔) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
               (๕) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๗) เรื่อง การออกใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. ๒๕๔๗]

               มาตรา ๔๐ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตอาจขอรับใบอนุญาตอีกได้ เมื่อพ้นห้าปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แต่เมื่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีได้พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตและปฏิเสธการออกใบอนุญาต ผู้นั้นจะยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้อีกเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีปฏิเสธการออกใบอนุญาต ถ้าคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีปฏิเสธการออกใบอนุญาตเป็นครั้งที่สองแล้ว ผู้นั้นเป็นอันหมดสิทธิขอรับใบอนุญาตอีกต่อไป

               มาตรา ๔๑ ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่มีอายุ แต่ผู้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๗) เรื่อง การออกใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. ๒๕๔๗]
               ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตสิ้นผล เมื่อผู้รับใบอนุญาต
               (๑) ตาย
               (๒) พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
               (๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙
               (๔) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเนื่องจากประพฤติผิดจรรยาบรรณ
               (๕) ไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและไม่ได้รับการผ่อนผันตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีกำหนด
               (๖) ไม่เข้ารับการอบรมตามหลักสูตรที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดให้ครบถ้วนตามมาตรา ๔๓ และสภาวิชาชีพบัญชีไม่ได้มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต

               มาตรา ๔๒ เมื่อสภาวิชาชีพบัญชีได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้วเห็นว่าผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๙ ให้สภาวิชาชีพบัญชีพิจารณาออกใบอนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอโดยเร็ว ซึ่งต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
               ในกรณีที่สภาวิชาชีพบัญชีไม่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคำขอ สภาวิชาชีพบัญชีต้องแสดงเหตุผลของการไม่ออกใบอนุญาตไว้โดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิอุทธรณ์การไม่ออกใบอนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีกำหนด
               [ดูประกาศคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๙]

               มาตรา ๔๓ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตมีหน้าที่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมหรือเข้าร่วมประชุมสัมมนา ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
                ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง สภาวิชาชีพบัญชีจะมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตของผู้นั้นไว้จนกว่าผู้นั้นจะได้ปฏิบัติตามก็ได้

หมวด ๖

 

การควบคุมการประกอบวิชาชีพด้านการทำบัญชี

 

               มาตรา ๔๔ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเป็นผู้ทำบัญชี เว้นแต่เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีหรือขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชี
               หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๖) เรื่อง ผู้ทำบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗]

               มาตรา ๔๕ ผู้ทำบัญชีที่จะขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
               (๑) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
               (๒) มีความรู้ภาษาไทยเพียงพอที่จะทำบัญชีเป็นภาษาไทยได้
               (๓) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เนื่องจากกระทำความผิดตามฐานความผิดหรือกฎหมายที่กำหนดในมาตรา ๓๙ (๓) เว้นแต่ต้องคำพิพากษาหรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี
               (๔) มีคุณวุฒิการศึกษาตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               (๕) ไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่น ตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๖) เรื่อง ผู้ทำบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗]

หมวด ๗

 

จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

 

               มาตรา ๔๖ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหรือผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชี หรือมาตรฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้องที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้
               บุคคลตามวรรคหนึ่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณหรือมาตรฐานที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าผู้นั้นประพฤติผิดจรรยาบรรณ

               มาตรา ๔๗ ให้สภาวิชาชีพบัญชีจัดทำจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีขึ้นเป็นภาษาไทย และอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) ความโปร่งใส ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต
               (๒) ความรู้ความสามารถและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
               (๓) ความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการและการรักษาความลับ
               (๔) ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลหรือนิติบุคคลที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติหน้าที่ให้

               มาตรา ๔๘ ข้อความใดในสัญญาจ้างสอบบัญชีที่กำหนดให้มีผลเป็นการจำกัดหรือปฏิเสธความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ข้อความนั้นเป็นโมฆะ
               ผู้สอบบัญชีจะรายงานผลการสอบบัญชีโดยระบุข้อความใดอันแสดงว่าตนไม่รับผิดชอบในผลการตรวจสอบ หรือแสดงความไม่ชัดเจนในผลการตรวจสอบเพราะเหตุที่ตนมิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยครบถ้วนที่พึงคาดหวังได้จากผู้สอบบัญชี หรือโดยครบถ้วนตามมาตรฐานการสอบบัญชีมิได้
                การกระทำตามวรรคสองถือว่าเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณ

               มาตรา ๔๙ โทษการประพฤติผิดจรรยาบรรณ มีดังต่อไปนี้
               (๑) ตักเตือนเป็นหนังสือ
               (๒) ภาคทัณฑ์
               (๓) พักใช้ใบอนุญาต พักการขึ้นทะเบียน หรือห้ามการประกอบวิชาชีพบัญชีด้านที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณโดยมีกำหนดเวลา แต่ไม่เกินสามปี
               (๔) เพิกถอนใบอนุญาต เพิกถอนการขึ้นทะเบียนหรือสั่งให้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

               มาตรา ๕๐ ให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณ มีจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพบัญชีจากผู้ซึ่งมีความเที่ยงธรรมและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
               (๑) เป็นสมาชิกสามัญ
               (๒) ประกอบวิชาชีพบัญชีมาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๐) เรื่อง ระยะเวลาการประกอบวิชาชีพบัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการจรรยาบรรณ พ.ศ. ๒๕๔๘]
               (๓) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
               (๔) ไม่ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิชาชีพบัญชีหรือเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้
               ในกรณีที่เป็นการสมควรให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐและคณะกรรมการจรรยาบรรณได้วินิจฉัยเรื่องเกี่ยวกับการประพฤติผิดจรรยาบรรณโดยมีมาตรฐานเดียวกัน ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพบัญชีขอให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ดูแลเรื่องจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีแต่งตั้งผู้แทนของตนเพื่อเป็นกรรมการจรรยาบรรณตามวรรคหนึ่งได้ ในกรณีนี้ไม่ให้นำความในวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) มาใช้บังคับ
               ให้คณะกรรมการจรรยาบรรณเลือกกรรมการจรรยาบรรณด้วยกันคนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการ และจะให้มีผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่คณะกรรมการจรรยาบรรณกำหนดก็ได้

               มาตรา ๕๑ ให้กรรมการจรรยาบรรณมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
               ให้กรรมการจรรยาบรรณซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่ากรรมการจรรยาบรรณใหม่จะเข้ารับหน้าที่

               มาตรา ๕๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการจรรยาบรรณพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
               (๑) ตาย
               (๒) ลาออก
               (๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๐
               (๔) ที่ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพบัญชีมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุม แต่ต้องไม่น้อยกว่าสองร้อยคะแนนเสียง
               ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีแต่งตั้งกรรมการจรรยาบรรณแทนตำแหน่งที่ว่างไปพลางก่อน และให้กรรมการจรรยาบรรณซึ่งได้รับแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่ได้จนถึงการประชุมใหญ่คราวต่อไป

               มาตรา ๕๓ เมื่อมีผู้กล่าวหาหรือปรากฏต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณว่าผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหรือผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้คณะกรรมการจรรยาบรรณดำเนินการสอบสวนพิจารณาโดยเร็ว
               สิทธิการกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง สิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวหารู้เรื่องการประพฤติผิดจรรยาบรรณและรู้ตัวผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณ ทั้งนี้ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่มีการประพฤติจรรยาบรรณนั้น
               การยื่นคำกล่าวหา การสอบสวน และการพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
               [ดูข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๑๒) เรื่อง การพิจารณาเกี่ยวกับจรรยาบรรณ พ.ศ. ๒๕๔๙]
               ในการดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการจรรยาบรรณ คณะกรรมการจรรยาบรรณจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการแทนก็ได้ โดยประกอบด้วยกรรมการจรรยาบรรณอย่างน้อยหนึ่งคนและอนุกรรมการอื่นซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๐ (๑) (๓) และ (๔) ตามจำนวนที่เห็นสมควร
               คณะกรรมการจรรยาบรรณและคณะอนุกรรมการมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานใด เพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา เพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนก็ได้
               เมื่อคณะอนุกรรมการทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้เสนอเรื่องพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณเพื่อพิจารณา
               การถอนเรื่องการกล่าวหาที่ได้ยื่นหรือแจ้งไว้แล้วนั้น ไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๕๔ เมื่อคณะกรรมการจรรยาบรรณพิจารณาจากผลการสอบสวนแล้วมีมติว่าผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้มีคำสั่งลงโทษผู้นั้นตามมาตรา ๔๙
               ในกรณีที่คณะกรรมการจรรยาบรรณมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้ประพฤติผิดจรรยาบรรณให้สั่งยกคำกล่าวหา
               การออกคำสั่งลงโทษตามวรรคหนึ่งหรือการออกคำสั่งยกคำกล่าวหาตามวรรคสอง ให้แจ้งคำสั่งให้ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

               มาตรา ๕๕ ผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการจรรยาบรรณสั่งลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งตามมาตรา ๕๔ ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีกำหนด
               [ดูประกาศคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๙]
               คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีให้เป็นที่สุด
               การอุทธรณ์คำสั่งไม่เป็นการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งลงโทษ เว้นแต่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีจะสั่งเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๕๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการจรรยาบรรณและอนุกรรมการจรรยาบรรณที่คณะกรรมการจรรยาบรรณแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๕๗ กรรมการจรรยาบรรณหรืออนุกรรมการจรรยาบรรณผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องที่ปรึกษาหารือเรื่องหนึ่งเรื่องใด ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณา ปรึกษาหารือ หรือลงคะแนนเสียงในเรื่องนั้น

               มาตรา ๕๘ ให้นำความในมาตรา ๒๖ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการจรรยาบรรณและคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณโดยอนุโลม

หมวด ๘

 

การกำกับดูแล

 

               มาตรา ๕๙ ให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี ประกอบด้วย
               (๑) ปลัดประทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ
               (๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมการประกันภัย อธิบดีกรมสรรพากร ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายกสภาวิชาชีพบัญชี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานกรรมการหอการค้าไทย
               (๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิชาการบัญชีสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายหนึ่งคน
               ให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นผู้ช่วยเลขานุการตามความจำเป็น
               ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทำหน้าที่ธุรการและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี ตามที่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีมอบหมาย
               กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๓) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

               มาตรา ๖๐ ให้คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
               (๑) กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภาวิชาชีพบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพบัญชี
               (๒) เสนอแนะให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙
               (๓) ให้ความเห็นชอบข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง และมาตรฐานการบัญชีตามมาตรา ๓๔ วรรคสาม
               (๔) พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง
               (๕) พิจารณาอุทธรณ์ของผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการจรรยาบรรณสั่งลงโทษตามมาตรา ๕๕ วรรคหนึ่ง
               (๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี

               มาตรา ๖๑ ในการดำเนินการของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีตามมาตรา ๖๐ (๑) ให้คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
               (๑) สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาวิชาชีพบัญชี
               (๒) สั่งเป็นหนังสือให้สมาชิก กรรมการ หรืออนุกรรมการอื่นใดของสภาวิชาชีพบัญชีหรือบุคคลใดชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสภาวิชาชีพบัญชี
               (๓) สั่งเป็นหนังสือให้สภาวิชาชีพบัญชี คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ระงับ แก้ไข หรือวางมาตรการแก้ไขการกระทำอันเป็นการขัดต่อกฎหมาย วัตถุประสงค์ หรือข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี

               มาตรา ๖๒ ให้นำความในมาตรา ๒๖ มาใช้บังคับกับการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี และคณะอนุกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีแต่งตั้งโดยอนุโลม

               มาตรา ๖๓ เมื่อปรากฏว่านายกสภาวิชาชีพบัญชี กรรมการ หรืออนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี หรือกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงแก่สภาวิชาชีพบัญชี ให้คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีทำการสอบสวนโดยเร็ว และเสนอผลการพิจารณาเพื่อให้รัฐมนตรีมีคำสั่งให้นายกสภาวิชาชีพบัญชี กรรมการ หรืออนุกรรมการผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง
               คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
               ในกรณีที่กรรมการโดยตำแหน่งตามมาตรา ๒๒ (๒) ผู้ใดถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้กรรมการผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๒ (๒) ด้วย

               มาตรา ๖๔ ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งตามมาตรา ๖๓ อันเป็นผลให้จำนวนกรรมการของคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่พึงมี ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งสมาชิกสามัญเท่าจำนวนกรรมการที่จะมีได้ตามมาตรา ๒๒ เป็นกรรมการชั่วคราวแทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งในวันเดียวกันกับวันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้กรรมการพ้นจากตำแหน่ง
               ให้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการใหม่ตามมาตรา ๒๒ ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการชั่วคราว เว้นแต่มีวาระเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน รัฐมนตรีจะสั่งให้ไม่มีการเลือกตั้งก็ได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการแทนอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
               ให้กรรมการชั่วคราวซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อกรรมการใหม่เข้ารับหน้าที่แล้ว

หมวด ๙

 

บทกำหนดโทษ

 

               มาตรา ๖๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๖๖ นิติบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาทและปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

               มาตรา ๖๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๖๘ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตผู้ใดถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา ๔๓ ทำการสอบบัญชีในระหว่างนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๖๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๗๐ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหรือผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีผู้ใดถูกลงโทษประพฤติผิดจรรยาบรรณตามมาตรา ๔๙ (๓) หรือ (๔) ทำการประกอบวิชาชีพบัญชีในระหว่างนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๗๑ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการจรรยาบรรณตามมาตรา ๕๓ วรรคห้า หรือคำสั่งของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีตามมาตรา ๖๑ (๒) หรือ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๗๒ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคลให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้แทนนิติบุคคล หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

บทเฉพาะกาล

               มาตรา ๗๓ ให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๗๔ ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยทำหน้าที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีจนกว่าคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้ถือว่านายกสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยเป็นนายกสภาวิชาชีพบัญชีจนกว่าจะมีการเลือกตั้งนายกสภาวิชาชีพบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๗๕ ในระหว่างที่สภาวิชาชีพบัญชียังมีสมาชิกไม่ถึงห้าร้อยคน ให้คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีทำหน้าที่สภาวิชาชีพบัญชีเพื่ออนุมัติหรือให้ความเห็นชอบข้อบังคับของสภาวิชาชีพบัญชี

               มาตรา ๗๖ ให้บรรดากฎกระทรวง ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. ๒๕๐๕ มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ข้อบังคับ หรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ในเรื่องเดียวกันออกใช้บังคับ
               [ดูข้อบังคับ กบ.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขอ การออก การต่ออายุ และการออกใบแทน ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. ๒๕๓๘]
               [ดูข้อบังคับ กบ.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขอ การออก การต่ออายุ และการออกใบแทน ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑]
               [ดูข้อบังคับ กบ.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขอ การออก การต่ออายุ และการออกใบแทน ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๕]
               [ดูข้อบังคับ กบ.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขอ การออก การต่ออายุ และการออกใบแทน ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๕]
               [ดูข้อบังคับ กบ.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขอ การออก การต่ออายุ และการออกใบแทน ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๗]
               ในกรณีที่มีปัญหาไม่อาจปฏิบัติตามกฎกระทรวง ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ในเรื่องใด ให้คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีกำหนดวิธีปฏิบัติหรือยกเว้นการปฏิบัติในเรื่องนั้นขึ้นเป็นการเฉพาะหรือเป็นการทั่วไปได้

                มาตรา ๗๗ ในวาระเริ่มแรกที่ยังมิได้มีการกำหนดมาตรฐานการบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีจะกำหนดให้ใช้มาตรฐานการบัญชีที่สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยได้กำหนดขึ้นและใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นมาตรฐานการบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนก็ได้

               มาตรา ๗๘ นิติบุคคลใดให้บริการการสอบบัญชีหรือการทำบัญชีอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยื่นขอจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
               (๑) นิติบุคคลนั้นต้องจัดให้มีหลักประกันตามมาตรา ๑๑ (๑) ให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องไม่เกินกว่าสามปี
               (๒) ดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรา ๑๑ (๒) ให้ครบถ้วนภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
       นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้การประกอบวิชาชีพบัญชีได้ขยายครอบคลุมออกไปหลายด้านไม่ว่าการทำบัญชี การสอบบัญชี การบัญชีบริหาร การวางระบบบัญชี การบัญชีภาษีอากร การศึกษาและเทคโนโลยี การบัญชี หรือบริการด้านอื่น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกิจกรรมในทางธุรกิจต่างๆ อย่างกว้างขวาง สมควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีอยู่ภายใต้การดูแลของสภาวิชาชีพบัญชีเดียวกัน เพื่อเป็นศูนย์รวมและส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นรวมทั้งให้ความรู้และพัฒนาส่งเสริมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีคุณภาพและมาตรฐานและมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ ตลอดจน เพื่อให้มีการควบคุมจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้




ข้อมูลเกี่ยวกับการบัญชี

พระราชบัญญัติการบัญชี 2543 article
รายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน article
มาตรฐานการบัญชีและร่างฯ
ประกาศสภาวิชาชีพบัญชี
ศัพท์บัญชี



Copyright © 2010 All Rights Reserved.

บริษัท บี พี แอคเคาน์แต้นท์ จำกัด
_____________________________________________________

สำนักงานใหญ่ :  เลขที่ 53 ถนนติวานนท์ ต.บางกระสอ  อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ :  0 2950 5560 ,โทรสาร : 0 2950 5560 ต่อ 18, มือถือ :  08 7505 9449, 08 9666 2871
_____________________________________________________

Email : bpaccountant2550@gmail.com
ID Line : bpaccountant